มะเขือเปราะ (Yellow berried nightshade หรือ Kantakari )
มะเขือเปราะลดน้ำตาลในเลือด บรรพบุรุษไทยในแดนสุวรรณภูมิฉลาดมากที่เลือกเอามะเขือเปราะมาใส่แกงป่าเป็นอาหารปราศจากคอเลสเตอรอล ลดมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือดและเสริมสร้างสุขภาพ
การแพทย์อายุรเวทของอินเดียใช้รากมะเขือเปราะรักษาอาการไอ หอบหืด ขับปัสสาวะ และขับลม ใช้ผลขับพยาธิ ลดไข้ ลดอักเสบ ช่วยการขับถ่าย ช่วยย่อยอาหาร และกระตุ้นระบบทางเพศ ประชาชนในแคว้นโอริสสา ของประเทศอินเดียใช้น้ำต้มผลมะเขือเปราะรักษาโรคเบาหวาน งานวิจัยนานาชาติระหว่างปี พ.ศ.2510-2538 พบว่าผลมะเขือเปราะมีฤทธิ์ลดการบีบตัวกล้ามเนื้อเรียบ ต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ และลดความดันเลือด
ผลมะเขือเปราะมีไกลโคอัลคาลอยด์โซลามาร์จีนโซลาโซนีน และอัลลาลอยด์โซลาโซดีนที่ปราศจากโมเลกุลน้ำตาล การทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารเหล่านี้พบว่า ทุกตัวมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งตับและลำไส้ใหญ่ พบว่าฤทธิ์ของไกลโคอัลคาลอยด์สูงกว่าโมเลกุลไร้น้ำตาล ราก ต้น และผลแก่มีสารอัลคาลอยด์เหล่านี้ต่ำ แต่ผลเขียว (เหมือนที่คนไทยนิยมรับประทาน) มีสารที่มีประโยชน์เหล่านี้ในปริมาณสูงกว่าส่วนอื่นของพืชดังกล่าว
สารโซลาโซดีนเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สเตียรอยด์คอร์ติโซนและฮอร์โมนเพศได้ ผลตากแห้งบดเป็นผงผสมน้ำผึ้งใช้ปรุงยาแก้ไอ ผลวิจัยที่แคว้นโอริสสา ประเทศอินเดียใช้สารสกัดน้ำของผลมะเขือเปราะลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของหนูเปาหวานอะล็อกซาน พบว่าได้ผลลดน้ำตาลในเลือดดีเท่ากับการใช้ยากลิเบนคลาไมด์ (glibenclamide)
การทดสอบเพิ่มเติมพบว่า สารสกัดดังกล่าวออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน โดยช่วยเสริมการใช้งานกลูโคสอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลเชิงบวกต่อการทำงานของตับอ่อน สารสกัดน้ำของผลมะเขือเปราะไม่มีพิษต่อสัตว์ทดลองแต่อย่างใด